เพราะสวยบาดใจจึงต้องให้บวช (พระอุบลวัณณาภิกษุณี)



เรื่อง เพราะสวยบาดใจจึงต้องให้บวช 
 
ประวัติ พระอุบลวัณณาภิกษุณี
ภิกษุณีเอตทัคคะในฝ่ายผู้มีฤทธิ์พระอุบลวรรณาเถรี เกิดในตระกูลเศรษฐี ในกรุงสาวัตถี บิดามารดาได้ตั้งชื่อให้นางว่า “อุบลวรรณา” ตามนิมิตลักษณะที่นางมีผิวพรรณเหมือนกลับดอกอุบลเขียว
เพราะสวยบาดใจจึงต้องให้บวช
เมื่อนางเจริญวัยเข้าสู่วัยสาว นอกจากจะมีผิวงามแล้วรูปร่างลักษณะยังงดงามสุดเท่าที่จะ หาหญิงอื่นทัดเทียม ได้ จึงเป็นที่หมายปองต้องการของพระราชาและมหาเศรษฐีทั่วทั้งชมพูทวีป ซึ่งต่างก็ส่งเครื่องบรรณาการอันมีค่าไปมอบให้พร้อมกับสู่ขอเพื่ออภิเษก สมรสด้วย ฝ่ายเศรษฐีผู้บิดาของนางรู้สึกลำบากใจด้วยคิดว่า “เราไม่สามารถที่จะรักษาน้ำใจของคน ทั้งหมดเหล่านี้ได้ เราควรจะหาอุบายทางออกสักอย่างหนึ่ง” แล้วจึงเรียกลูกสาวมาถามว่า:-
“แม่อุบลวรรณา เจ้าจะสามารถบวชได้ไหม ?”
นางได้ฟังคำของบิดาแล้วรูสึกร้อนทั่วสรรพางค์กายเหมือนกับมีคนนำเอาน้ำมัน ที่เคี่ยว ให้เดือด ๑๐๐ ครั้ง ราดลงบนศีรษะของนาง ด้วยว่านางได้สั่งสมบุญมาแต่อดีตชาติ และการเกิด ในชาตินี้ก็เป็นชาติสุดท้ายของนาง ดังนั้น นางจึงรับคำของบิดาด้วยความปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง เศรษฐีผู้บิดาจึงพานางไปยังสำนักของภิกษุสงฆ์แล้วให้บวชเป็นที่เรียบร้อย เมื่อนางอุบลวรรณาบวชได้ไม่นาน ก็ถึงสาระที่จะต้องไปทำความสะอาดโรงอุโบสถ เธอได้จุดประทีปเพื่อขจัดความมืดแล้วกวาดโรงอุโบสถ เห็นเปลวไฟที่ดวงประทีปแล้วยึดถือเอา เป็นนิมิตร ขณะที่กำลังยืนอยู่นั้นได้เข้าฌานมีเตโช กสิณเป็นอารมณ์ แล้วกระทำฌานนั้นให้เป็น ฐานเจริญวิปัสสนา ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาและอภิญญาทั้งหลาย ณ ที่นั้น นั่นเอง
เมื่อพระเถรีสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ได้เที่ยวจาริกไปยังชนบทต่าง ๆ แล้วกลับมาพัก ที่ป่าอันธวัน สมัยนั้นพระผู้มีพระภาคยังมิได้ทรงบัญญัติห้ามภิกษุณีอยู่ในป่าเพียงลำพัง ประชา ชนได้ช่วยกันปลูกกระท่อมไว้ในป่าพร้อมทั้งเตียงตั่งกั้นม่านแล้วถวาย เป็นที่พักแก่ พระเถรีนั้น
"บวชแล้วยังถูกข่มขืน"
ฝ่ายนันทมาณพ ผู้เป็นลูกชายของลุงของพระเถรีนั้น มีจิตหลงรักนางตั้งแต่ยังไม่บวชเมื่อ ทราบข่าวว่าพระเถรีมาพักที่ป่าอันธวัน ใกล้เมืองสาวัตถี จึงได้ถือโอกาสขณะที่พระเถรีเข้าไป บิณฑบาตในเมืองสาวัตถีนั้น ได้เข้าไปในกระท่อมหลบซ่อนตัวอยู่ใต้เตียง เมื่อพระเถรีกลับมา แล้ว เข้าไปในกระท่อมปิดประตูแล้วนั่งลงบนเตียง ขณะที่สายตายังไม่ปรับเข้ากับความมืดใน กระท่อม นันทมาณพก็ออกมาจากใต้เตียงตรงเข้าปลุกปล้ำข่มขืนพระเถรี ถึงแม้พระเถรีจะร้อง ห้ามว่า:- “เจ้าคนพาล เจ้าอย่าพินาศฉิบหายเลย เจ้าคนพาล เจ้าอย่าพินาศฉิบหายเลย” นันทมาณพ ก็ไม่ยอมเชื่อฟัง ได้ทำการข่มขืนพระเถรีสมปรารถนาแล้วก็หลีกหนีไป พอ เขาหลบหนีไปได้ไม่ไกล แผ่นดินใหญ่ก็มีอาการประหนึ่งว่าไม่สามารถจะรองรับน้ำหนักของเขา เอาไว้ได้ จึงอ่อนตัวยุบลงแล้วนันทมาณพก็จมดิ่งลงในแผ่นดิน ไปเกิดในอเวจีมหานรก ฝ่ายพระอุบลวรรณาเถรี ก็มิได้ปิดบังเรื่องราวที่เกิดขึ้น ได้บอกแจ้งเหตุที่เกิดขึ้นกับตน นั้นแก่ภิกษุณีทั้งหลาย ต่อจากนั้นเรื่องราวของพระเถรีก็ทราบถึงพระบรมศาสดา
พระพุทธองค์ ได้ตรัสพระคาถาภาษิตว่า:-
“คนพาล ย่อมร่าเริงยินดีในบาปกรรมลามกที่ตนกระทำ ประดุจว่าดื่มน้ำผึ้งที่มีรสหวาน จนกว่าบาปกรรมนั้นจะให้ผล จึงจะได้ประสบกับความทุกข์ เพราะกรรมนั้น”

พระขีณาสพเหมือนไม้แห้งไม้ผุ เมื่อกาลเวลาล่วงไปภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมเกี่ยวกับเหตุการณ์ของพระ อุบลวรรณาเถรี นั้นว่า:-
“ท่านทั้งหลาย เห็นทีพระขีณาสพทั้งหลาย คงจะยังมีความยินดีในกามสุข คงจะยังจะ พอใจในการเสพกาม ก็ทำไมจะไม่เสพเล่า เพราะท่านเหล่านั้นมิใช่ไม้ผุ มิใช่จอมปลวก อีกทั้ง เนื้อหนังร่างกายทั่วทั้งสรีระก็ยังสดอยู่ ดังนั้น แม้จะเป็นพระขีณาสพก็ชื่อว่ายังยินดีในการเสพ กาม”
พระบรมศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามทรงทราบเนื้อความที่พวกภิกษุเหล่านั้นสนทนากัน แล้วจึงตรัสว่า:-
“ภิกษุทั้งหลาย พระขีณาสพทั้งหลายนั้นไม่ยินดีในกามสุข ไม่เสพกามเปรียบเสมือน หยาดน้ำตกลงในใบบัวแล้วไม่ติดอยู่ ย่อมกลิ้งตกลงไป และเหมือนกับเมล็ดพันธุ์ผักกาด ย่อมไม่ ติดตั้งอยู่บนปลายเหล็กแหลม ฉันใด ขึ้นชื่อว่ากามก็ย่อมไม่ซึมซาบ ไม่ติดอยู่ในจิตของพระ ขีณาสพ ฉันนั้น”
ต้นกำเนิดศีล ห้ามภิกษุณีอยู่ป่า ต่อมาพระบรมศาสดา
ทรงพิจารณาเห็นภัยอันจะเกิดแก่กุลธิดาผู้เข้ามาบวชแล้วพักอาศัย อยู่ในป่า อาจจะถูกคนพาลลามกเบียดเบียนประทุษร้าย ทำอันตรายต่อพรหมจรรย์ได้ จึงรับสั่งให้ เชิญพระเจ้าปเสนทิโกศลมาเฝ้า ตรัสให้ทราบพระดำริแล้ว ขอให้สร้างที่อยู่อาศัยเพื่อนางภิกษุณี สงฆ์ในที่บริเวณใกล้ ๆ พระนคร และตั้งแต่นั้นมา ภิกษุณีก็มีอาวาสอยู่ในบ้านในเมืองเท่านั้น พระอุบลวรรณาเถรี ปรากฏว่าเป็นผู้ชำนาญในการแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ดังจะเห็นได้ในวัน ที่ พระบรมศาสดาทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์นั้น พระเถรีก็กราบทูลอาสาขอแสดงฤทธิ์เพื่อต่อสู้ กับพวกเดียรถีย์แทนพระพุทธองค์ ด้วย และทรงอาศัยเหตุนี้จึงได้ทรงสถาปนาพระอุบลวรรณา เถรี นี้ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลาย ในฝ่าย ผู้มีฤทธิ์ และเป็นอัครสา วิการฝ่ายซ้าย
ผู้อ่านบางท่านอาจสงสัยเรื่องภิกษุณี (นักบวชเป็นผู้หญิง)
ในพระพุทธศาสนา คำว่า ภิกษุณี เป็นศัพท์ที่มีเฉพาะในพระพุทธศาสนา โดยเป็นศัพท์บัญญัติที่ใช้เรียกนักบวชหญิงในพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะ ไม่ใช้เรียกนักบวชในศาสนาอื่น
ภิกษุณี หรือ ภิกษุณีสงฆ์ จัดตั้งขึ้นโดยพระบรมพุทธานุญาต ภิกษุณีรูปแรกในพระพุทธศาสนาคือพระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี โดยวิธีรับคุรุธรรม 8 ประการ ในคัมภีร์เถรวาทระบุว่าต่อมาในภายหลังพระพุทธเจ้าได้ทรงอนุญาตวิธีการ อุปสมบทภิกษุณีให้มีรายละเอียดเพิ่มมากขึ้น จนศีลของพระภิกษุณีมีมากกว่าพระภิกษุ โดยพระภิกษุณีมีศีล 311 ข้อ ในขณะที่พระภิกษุมีศีลเพียง 227 ข้อเท่านั้น เนื่องจากในสมัยพุทธกาลไม่เคยมีศาสนาใดอนุญาตให้ผู้หญิงเข้ามาเป็นนักบวชมา ก่อน และการตั้งภิกษุณีสงฆ์ควบคู่กับภิกษุสงฆ์อาจเกิดข้อครหาที่จะเป็นอันตราย ร้ายแรงต่อการประพฤติพรหมจรรย์และพระพุทธศาสนาได้ หากได้บุคคลที่ไม่มีความมั่นคงในพระพุทธศาสนาเข้ามาเป็นนักบวช
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ไม่ปรากฏว่ามีการตั้งวงศ์ภิกษุณีเถรวาทขึ้นในประเทศไทย อย่างไรก็ตามในประเทศพุทธเถรวาทที่เคยมี หรือไม่เคยมีวงศ์ภิกษุณีสงฆ์ในปัจจุบัน ต่างก็นับถือกันโดยพฤตินัยว่าการที่อุบาสิกาที่มีศรัทธาโกนศีรษะนุ่งขาวห่ม ขาว ถือปฏิบัติศีล 8 (อุโบสถศีล) ซึ่งเรียกโดยทั่วไปว่า แม่ชี เป็นการผ่อนผันผู้หญิงที่ศรัทธาจะออกบวชเป็นภิกษุณีเถรวาท แต่ไม่สามารถอุปสมบทเป็นภิกษุณีเถรวาทได้ โดยส่วนใหญ่แม่ชีเหล่านี้จะอยู่ในสำนักวัดซึ่งแยกเป็นเอกเทศจากกุฎิสงฆ์
ภิกษุณีสายเถรวาทซึ่งสืบวงศ์มาแต่สมัยพุทธกาลด้วยการบวชถูกต้องตามพระวินัย ปิฎกเถรวาท ที่ต้องบวชในสงฆ์สองฝ่ายคือทั้งภิกษุสงฆ์ และภิกษุณีสงฆ์ ได้ขาดสูญวงศ์ (ไม่มีผู้สืบต่อ) มานานแล้ว คงเหลือแต่ภิกษุณีฝ่ายมหายาน (อาจริยวาท) ที่ยังสืบทอดการบวชภิกษุณีแบบมหายาน (บวชในสงฆ์ฝ่ายเดียว) มาจนปัจจุบัน ซึ่งจะพบได้ใน จีน, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น และศรีลังกา
ปัจจุบันมีการพยายามรื้อฟื้นการบวชภิกษุณีในฝ่ายเถรวาท โดยทำการบวชมาจากภิกษุณีมหายาน และกล่าวว่าภิกษุณีฝ่ายมหายานนั้น สืบวงศ์ภิกษุณีสงฆ์มาแต่ฝ่ายเถรวาทเช่นกัน แต่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าฝ่ายมหายานมีการบวชภิกษุณีสืบวงศ์มาโดยมิได้กระทำ ถูกตามพระวินัยปิฎกเถรวาท และมีศีลที่แตกต่างกันอย่างมากด้วย ทำให้มีการไม่ยอมรับภิกษุณี (เถรวาท) ใหม่ ที่บวชมาแต่มหายานว่า มิได้เป็นภิกษุณีที่ถูกต้องตามพระวินัยปิฎกเถรวาท และมีการยกประเด็นนี้ขึ้นเป็นข้ออ้างว่าพระพุทธศาสนาจำกัดสิทธิสตรีด้วย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะพระพุทธเจ้าได้อนุญาตให้มีภิกษุณีที่นับเป็นการเปิดโอกาสให้มีนักบวช หญิงเป็นศาสนาแรกในโลก เพียงแต่การสืบทอดวงศ์ภิกษุณีได้สูญไปนานแล้ว จึงทำให้ในปัจจุบันไม่สามารถบวชสตรีเป็นภิกษุณีตามพระวินัยเถรวาทได้
--------------------------------------------------------------------
ติดตามเรื่องน่าอ่านอีกมากมาย ได้ที่ เพจนิทานธรรม
เพจ : www.facebook.com/Nitandham
เว็บไซค์ : http://nitandham.blogspot.com
Youtube : https://goo.gl/F27gUr
--------------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น